ประเด็นร้อน

ประเมินผล 'ต้านคอร์รัปชัน'

โดย ACT โพสเมื่อ May 04,2017

การต่อต้านคอร์รัปชันถูกยกให้เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญอันดับต้นๆ ที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สัญญาว่า จะแก้ไขตามนโยบายการส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในภาครัฐที่ ครม. แถลงต่อ สนช. เมื่อเดือนกันยายนปี 2557 นับจากช่วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้ทำงานมาแล้วเกือบสามปี คำถามที่สังคมอาจกำลังรอคำตอบคือว่ารัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ได้ดำเนินการต่อต้านคอร์รัปชันนั้นคืบหน้า อย่างไร

ทีดีอาร์ไอได้ติดตามการออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันในภาครัฐ และพบว่า รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ มีความ ก้าวหน้าอย่างมากในการออกกฎและระเบียบ เพื่อลดทุจริตในสองเรื่อง ได้แก่ การควบคุม การใช้ดุลยพินิจของหน่วยงานรัฐ และ การกำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างให้เกิด ความโปร่งใส ในเรื่องการควบคุมการใช้ดุลยพินิจของหน่วยงานรัฐ รัฐบาลปัจจุบันได้ออกกฎ และระเบียบสองฉบับที่สำคัญ ได้แก่ พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวก ในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ 2558 และ พระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558

ในหลักการนั้น พระราชบัญญัติ การอำนวยความสะดวกฯ ถูกออกมาเพื่อกำหนดว่า อย่างน้อยหน่วยงานรัฐทุกแห่ง จะต้องจัดทำคู่มือชี้แจงให้ผู้มาติดต่อราชการทราบถึงระยะเวลา เอกสารหลักฐาน และ ขั้นตอนที่ต้องใช้ในการขออนุญาตทางราชการ แก่ประชาชน เช่น การทำใบขับขี่ การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อความโปร่งใสในกระบวนการพิจารณา อนุญาตต่างๆ ในขณะที่พระราชกฤษฎีกา การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานรัฐจะต้องทบทวนว่ากฎระเบียบที่ตนเองถืออยู่มีเนื้อหาที่ สร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควร เช่น การพิจารณาให้อนุมัติหรืออนุญาตทางราชการ ต่างๆ ที่ไม่จำเป็น

แต่ในทางปฏิบัติ ประชาชนจะต้องติดตามการดำเนินการตามกฎหมาย สองฉบับนี้จะสำเร็จมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอสำรวจพบว่า ประชาชน 95% ไม่เคยได้ยินชื่อพระราชบัญญัติอำนวย ความสะดวกฯ และในส่วนของพระราชกฤษฎีกา การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พบว่า มีหน่วยงานเพียงสองแห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่เริ่มทบทวนกฎระเบียบของตนเอง ในเรื่องการกำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้าง ของภาครัฐซึ่งเป็นเป้าหมายของการทุจริต เสมอมาเนื่องจากเกี่ยวข้องกับงบประมาณ กว่า 9 แสนล้านบาทต่อปี รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ได้ออกมาตรการถาวร 2 เรื่อง ได้แก่ การออกพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และการดำเนินโครงการ "ข้อตกลงคุณธรรม" (Integrity Pact) ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องเปิดโอกาสให้มี "ผู้สังเกตการณ์" จากภาคประชาสังคมเข้าร่วมในกระบวนการดำเนินโครงการจัดซื้อจัดจ้าง

นอกจากนี้ ยังมีการออกมาตรการ ชั่วคราว 1 เรื่อง คือการดำเนินโครงการ "เพื่อความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ" หรือ CoST (Construction Sector Transparency Initiative) ซึ่งมุ่งให้ หน่วยงานรัฐที่มีโครงการก่อสร้างต้องเปิดเผย ข้อมูลตั้งแต่อนุมัติโครงการ จัดหาผู้รับเหมา จนถึงระหว่างการดำเนินการก่อสร้างให้สาธารณะได้รับทราบ เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงการ ก่อสร้างของรัฐมักถูกร้องเรียนว่ามีการฮั้วประมูล เกิดขึ้นบ่อยครั้ง การเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชน ได้ติดตามตรวจสอบจะช่วยให้การทุจริต เป็นไปได้ยากขึ้น

ปัจจุบัน โครงการ CoST ถูกนำร่อง ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ 5 โครงการ มูลค่ารวม 1.03 แสนล้านบาท ซึ่งรวมโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 มูลค่า 6.2 หมื่นล้านบาท และโครงการก่อสร้างทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนองวงแหวนรอบนอก มูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท แม้จะมีผลงานพอเป็นที่ประจักษ์อยู่บ้าง ข้างต้น แต่มาตรการทั้งหมดนี้ยังคงเป็น มาตรการต่อต้านคอร์รัปชันที่จะต้องรอให้ภาครัฐดำเนินการเท่านั้น รัฐบาลยังคงไม่มีความคืบหน้าในสามเรื่องที่จำเป็น เพื่อให้ การต่อต้านคอร์รัปชันเห็นผลมากขึ้นดังนี้

หนึ่ง เรื่องการสร้าง การมีส่วนร่วม ให้ประชาชนได้ตรวจสอบการทำงานของรัฐที่ผ่านมารัฐบาลกลับสร้างอุปสรรคให้ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยลง เช่น การปล่อยให้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เรื่องปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน ของรัฐ หรือล่าสุดคือการพยายามออกกฎหมายให้อำนาจรัฐเพื่อกำกับดูแลสื่อ

สอง เรื่องการกำจัดระบบพวกพ้องเส้นสายและผลประโยชน์ทับซ้อน รัฐบาลถูกตั้งคำถามจากสังคมและสื่อมวลชน อย่างมากว่า มีการละเว้นไม่ตรวจสอบทุจริตกับบุคคลบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ ใกล้ชิดกับบุคคลในรัฐบาลหรือไม่ เห็นได้จาก ข่าวการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหมและกองทัพบางโครงการซึ่งถูกตั้งคำถามถึงความไม่โปร่งใสในการอนุมัติและประมูลโครงการ

สาม ยังคงไม่มีความชัดเจนถึงการออก มาตรการคุ้มครองข้าราชการที่สุจริตและประชาชนที่ต้องการเปิดโปงการทุจริต ไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง อย่างน้อยยังคงไม่มีข่าวความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมาย การฟ้องร้องหมิ่นประมาทไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือฟ้องปิดปากผู้เปิดโปงการทุจริต

โดยสรุป ผลงานการตรวจสอบทุจริตของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ที่ผ่านมายังเน้นการออกมาตรการซึ่งต้องดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ แต่ยังขาดการส่งเสริมกลไก การตรวจสอบภาคประชาสังคมซึ่งถือเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้การต่อต้านคอร์รัปชันประสบความสำเร็จในอนาคต

'ยังคงไม่มีความชัดเจน ถึงการออกมาตรการ คุ้มครองข้าราชการ ที่สุจริต และประชาชน ที่ต้องการเปิดโปง การทุจริต ไม่ให้ถูก กลั่นแกล้ง'

- -สำนักข่าว กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4 พฤษภาคม 2560 - - 
อ่านข่าวเพิ่มเติมที่ : www.bangkokbiznews.com/blog/detail/641139